มาตรการต่อเชื้อมาลาเรีย
เป็นมาตรการที่ดำเนินการต่อเชื้อมาลาเรียเฉพาะในผู้ป่วยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การบำบัดรักษา ลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยให้หายขาดจากโรค เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อระยะติดต่อไปสู่บุคคลอื่น
1. การค้นหาผู้ป่วย เป็นการค้นหาผู้ที่มีเชื้อมาลาเรียในกระแสโลหิตที่เป็นผู้ป่วยรายใหม่ โดยการเจาะโลหิตตรวจหาเชื้อมาลาเรีย เพื่อค้นหาแหล่งรังโรค ให้การบำบัดรักษาและลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย ตัดวงจรการแพร่โรค และการตรวจโลหิตติดตามสำหรับผู้ที่เคยพบเชื้อมาลาเรีย
1.1 การค้นหาผู้ป่วยทางตรง เป็นการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก โดยเจ้าหน้าที่เดินทางเข้าไปเจาะโลหิตในหมู่บ้าน ซึ่งอาจดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ หรือเป็นกิจกรรมเฉพาะกิจเมื่อมีไข้สูงผิดปกติหรือคาดว่าจะมีไข้สูงผิดปกติ ได้แก่ การค้นหาผู้ป่วยวิธีพิเศษ มาลาเรียคลินิกเคลื่อนที่ การเจาะโลหิตหมู่ การเจาะโลหิตขณะไปสอบประวัติผู้ป่วย การค้นหาผู้ป่วยวิธีพิเศษ เป็นการเจาะโลหิตประชาชนกลุ่มเสี่ยงในหมู่บ้าน ในลักษณะเยี่ยมทุกหลังคาเรือน และต้องนำฟิล์มโลหิตกลับมาตรวจยังสำนักงาน เป็นกิจกรรมเฉพาะกิจเพื่อค้นหาผู้ป่วยรายใหม่เมื่อมีปัญหาภาวะไข้มาลาเรียสูงผิดปกติหรือเมื่อคาดว่าจะเกิดภาวะไข้สูงขึ้น มาลาเรียคลินิกเคลื่อนที่ เป็นการเจาะโลหิตประชาชนในหมู่บ้าน พร้อมอุปกรณ์สำหรับวินิจฉัยเชื้อมาลาเรีย ให้การบำบัดรักษา และสอบประวัติผู้ป่วยมาลาเรีย โดยไม่ต้องนำฟิล์มโลหิตกลับมาตรวจยังสำนักงาน ดำเนินการในกรณีที่ต้องการค้นหาและรักษาผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว การเจาะโลหิตหมู่ เป็นกิจกรรมหนึ่งของการสอบสวนแหล่งแพร่เชื้อ เพื่อสอบสวนและประเมินสถานการณ์โรค และเป็นโอกาสค้นหาผู้ป่วยมาลาเรียที่ไม่ได้ตรวจพบครั้งก่อน เพื่อให้การบำบัดรักษา การเจาะโลหิตขณะไปสอบประวัติผู้ป่วย เป็นการเจาะโลหิตผู้ที่เสี่ยงต่อการติดโรครอบๆบ้านผู้ป่วยขณะไปสอบประวัติผู้ป่วยในหมู่บ้าน โดยมุ่งหวังผลพลอยได้ในการค้นหาผู้ป่วยให้ได้มากขึ้น
1.2 การค้นหาผู้ป่วยทางอ้อม เป็นการค้นหาผู้ป่วยเชิงรับ โดยประชาชนเป็นผู้มารับบริการตรวจรักษาที่สถานบริการต่าง ๆ ในลักษณะเจาะโลหิตตรวจรักษาทันที หรือเจาะโลหิตส่งตรวจและรักษาภายใน 7 วัน ตามสถานบริการต่างๆ เช่น มาลาเรียคลินิก หรือ มาลาเรียคลินิกชุมชน เป็นสถานบริการเจาะโลหิตตรวจรักษาทันที ละในบางแห่งให้บริการนอกเวลาราชการด้วย ซึ่งขึ้นกับศักยภาพของแต่ละแห่ง โรงพยาบาล เป็นสถานบริการเจาะโลหิต ตรวจรักษาทันที สถานีอนามัย เป็นสถานบริการเจาะโลหิต ตรวจรักษาทันที หรือเจาะโลหิตส่งตรวจและรักษาภายใน 7 วัน อาสาสมัคร อาสาสมัครเป็นผู้ให้บริการเจาะโลหิตส่งตรวจเพื่อบำบัดรักษาภายใน 7 วัน และแนะนำสถานที่ตรวจรักษาแก่ผู้ป่วย ให้คำแนะนำในการควบคุมป้องกันไข้มาลาเรียแก่ประชาชนและชุมชน ตลอดจนสนับสนุนการปฏิบัติงานควบคุมป้องกันไข้มาลาเรียของเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครมี 2 ประเภท คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครมาลาเรียประจำหมู่บ้าน (อมม.)
2.การติดตามผลการรักษาผู้ป่วย คือการติดตามเจาะโลหิตผู้ป่วย เพื่อตรวจซ้ำในระยะ 1-3 เดือน เพื่อติดตามผลการรักษา หลังจากผู้ป่วยได้รับยารักษาขั้นหายขาดแล้ว เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยรายนั้นหายขาดจากโรคมาลาเรีย รายที่ตรวจพบเชื้อซ้ำอีกจะได้รับการรักษาซ้ำเพื่อมิให้กลับป่วยขึ้นอีกและไม่ให้แพร่โรคไปสู่ผู้อื่น ชนิดและการจ่ายยาให้ดูในคู่มือการรักษามาลาเรียฉบับปัจจุบัน ดำเนินการโดยนัดผู้ป่วยพบเชื้อทุกรายมารับการเจาะโลหิตซ้ำที่มาลาเรียคลินิกหรือสถานบริการอื่น ๆ หากผู้ป่วยไม่มาให้ไปติดตามเจาะโลหิตที่บ้านผู้ป่วย
3. การสอบประวัติผู้ป่วย หมายถึง การสอบถามผู้ป่วยที่พบเชื้อมาลาเรียทุกรายเกี่ยวกับประวัติการเจ็บป่วยและเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องตามแบบฟอร์มรายงาน เพื่อทราบสาเหตุและชนิดของการติดเชื้อเพื่อเป็นแนวทางในการควบคุมโรคต่อไป
มาตรการต่อยุงพาหะ มาตรการควบคุมยุงพาหะนำไข้มาลาเรีย มีการควบคุมทั้งยุงพาหะตัวเต็มวัยและลูกน้ำยุงพาหะ โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน 3 ประการ คือ เพื่อลดความหนาแน่นของยุงพาหะ เพื่อลดอายุขัยของยุงพาหะ และเพื่อลดการสัมผัสระหว่างคนและยุงพาหะ กิจกรรมในการควบคุมยุงพาหะพิจารณาตามความเหมาะสมทางด้านระบาดวิทยา กีฏวิทยา ประชากร สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ มีกิจกรรมหลายลักษณะที่ใช้ดำเนินการ ได้แก่
1. การพ่นเคมีชนิดมีฤทธิ์ตกค้าง เป็นการพ่นเคมีให้มีฤทธิ์ตกค้างบนพื้นผิว อาคาร บ้านเรือน กระท่อม เพิง ที่พักอาศัย เฉพาะพื้นผิวที่ยุงพาหะในพื้นที่ชอบเกาะพัก เป็นมาตรการสำคัญที่ใช้ควบคุมยุงพาหะของท้องที่มีการแพร่เชื้อสูง หรือท้องที่ที่อาจจะเกิดมีการตายด้วยมาลาเรียได้ โดยพ่นเคมีก่อนฤดูกาลแพร่เชื้อหนึ่งเดือน และพ่นทันทีสำหรับท้องที่ซึ่งไม่มีการแพร่เชื้อที่พบว่ากลับมีการแพร่เชื้ออีก สารเคมีที่ใช้ คือ เดลตาเมทริน 5% wdp. พ่นบนพื้นผิวภายในอาคารบ้านเรือนให้มีสารออกฤทธิ์ติดพื้นผิวขนาด20มิลลิกรัมต่อตารางเมตร ปีละ1หรือ2รอบ
2. การใช้มุ้งชุบสารเคมี มุ้งที่ชุบสารเคมีใช้สำหรับการควบคุมยุงพาหะระยะตัวเต็มวัย มักดำเนินการในกลุ่มบ้านหรือหมู่บ้านที่สำรวจแล้วพบว่ามีการใช้มุ้ง 70% ของหลังคาเรือนขึ้นไป หรือเป็นท้องที่ที่มีประชาชนใช้มุ้งอัตราส่วนไม่เกิน 3 คนต่อมุ้ง 1 หลัง สารเคมีที่ใช้ชุบมุ้ง คือเพอร์เมทริน 10% ชนิดน้ำมัน ใช้ชุบมุ้งให้มีสารออกฤทธิ์ขนาด 300 มิลลิกรัมต่อตารางเมตร ระยะเวลาที่ทำการชุบมุ้งต้องทำให้เสร็จก่อนฤดูกาลแพร่เชื้อไม่เกิน 1 เดือน ดำเนินการ 1-2 รอบต่อปี เช่นเดียวกับการพ่นบ้าน
3. การพ่นหมอกควัน เป็นการใช้เครื่องพ่นสารเคมีชนิดเป็นฝอยละอองผ่านความร้อนออกมาเป็นควันเมื่อถูกกับยุงพาหะทำให้ตายทันที ดำเนินการในท้องที่ที่มีการแพร่เชื้อ และพบว่ามียุงพาหะหลักซึ่งมีชีวนิสัยกัดคนในบ้าน เป็นท้องที่ชุมชนหนาแน่น ประชาชนยอมรับการพ่นหมอกควันหรือถ้ามีการพบผู้ป่วยมาลาเรียมากผิดปกติ หรือถ้ามีการระบาดของไข้มาลาเรียในท้องที่ไม่มีการแพร่เชื้อไข้มาลาเรียแล้ว จะพ่นหมอกควัน 4-6 ครั้งต่อแห่ง ระยะเวลาแต่ละครั้งห่างกันประมาณ 1 สัปดาห์ โดยมักพ่นหมอกควันในระยะเวลาที่ยุงพาหะออกหากิน เช่น พลบค่ำ สารเคมีที่ใช้พ่นหมอกควัน คือ สารเคมีกลุ่มไพริทรอยด์ เช่น เดลตาเมทริน 0.5 % ชนิดน้ำมัน
4. การควบคุมทางชีววิธี หมายถึง การนำสิ่งมีชีวิตมาใช้ควบคุมยุงพาหะโดยเฉพาะในระยะที่เป็นลูกน้ำ โดยใช้ปลาหางนกยูง ปลาแกมบูเซีย และปลาหัวตะกั่ว ปล่อยในแหล่งน้ำที่พบหรือสงสัยว่าจะมีการเพาะพันธุ์ของยุงพาหะ (ยกเว้นแหล่งน้ำของยุง An. dirus ซึ่งมักค้นหาไม่พบ) และปล่อยในฤดูกาล ที่มีแหล่งน้ำเหมาะสมซึ่งปลาสามารถมีชีวิตอยู่ และขยายพันธุ์ได้ การใช้ปลากินลูกน้ำให้ปล่อยปลาซ้ำที่เดิมแห่งละ 3-4 ครั้ง ๆ ละประมาณ 100-200 ตัว แต่ละครั้งปล่อยปลาห่างกันประมาณ 1 เดือน
5. การปรับปรุงสิ่งแวดล้อม (Environmental management) การปรับปรุงสิ่งแวดล้อมเพื่อควบคุมยุงพาหะมีวัตถุประสงค์ เพื่อป้องกันมิให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงพาหะ หรือลดปริมาณของยุงพาหะลงซึ่งจะมีผลถึงการลดการติดเชื้อมาลาเรียในพื้นที่ลงด้วย มีแบบเปลี่ยนแปลงที่ถาวร ได้แก่ การระบายน้ำ การกลบถมแหล่งเพาะพันธุ์ การปรับสภาพและระดับผิวดิน และการเปลี่ยนแปลงชั่วคราว เช่น การเปลี่ยนความเป็นกรดด่างของน้ำ การระบายน้ำ การปรับระดับน้ำ การผันกระแสน้ำ เป็นต้น การปรับปรุงสิ่งแวดล้อมต้องลงทุนค่อนข้างสูง และต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชนและ/หรือองค์กรในท้องถิ่นนั้น ให้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานเป็นอย่างดีเพราะต้องมีการซ่อมบำรุงและดูแลอย่างใกล้ชิด
6. การใช้สารฆ่าลูกน้ำ เป็นการใช้สารเคมีหรือใช้จุลินทรีย์บางชนิด ใส่ในแหล่งน้ำแล้วสามารถฆ่าลูกน้ำในแหล่งเพาะพันธุ์ยุงพาหะได้ ทั้งนี้ประชาชนต้องไม่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำนั้นเพื่อการบริโภคและอุปโภคในชีวิตประจำวัน สารเคมีต้องไม่เป็นอันตรายต่อคนหรือสัตว์น้ำ ปัจจุบันสารเคมีที่ใช้ควบคุมลูกน้ำยุงพาหะคือ ทีมีฟอส (Temephos) หรือเอเบท (Abate) ใช้ในขนาด 1 ส่วนต่อน้ำหนึ่งล้านส่วน (1 ppm=part per million) ดำเนินการในแหล่งน้ำแห่งละ 4-6 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 1 สัปดาห์ และควรทำในช่วงก่อนมีการแพร่เชื้อสูง หรือมีผู้ป่วยเกิดขึ้นมาก ปัจจุบันนี้มีพื้นที่ที่เหมาะสมในการเลือกใช้วิธีนี้น้อยมาก
วันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น