วันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

โรคไข้มาลาเรีย(5)


การรักษาโรคมาลาเรีย
เมื่อผลการตรวจโลหิตแล้ว พบว่ามีการติดเชื้อมาลาเรีย ผู้ป่วยต้องได้รับยาและการรักษาตามอาการ ในกรณีอาการไม่หนัก ไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล การใช้ยารักษาไข้มาลาเรีย จำแนกตามชนิดเชื้อดังนี้ เชื้อฟัลซิปารัม (P. falciparum)
1. พื้นที่เชื้อฟัลซิปารัม (P. falciparum) ไม่ดื้อต่อยาเมโฟลควีน ยาขนานที่หนึ่ง (First line drug) ใช้ยาอาร์ที่ซูเนต (artesunate) ยาเมโฟลควิน (mefloquine) และยาไพรมาควิน (primaquine) ร่วมกันรักษาหายขาดเชื้อชนิดฟัลซิปารัม(P.Falciparum) ในพื้นที่ไม่ดื้อต่อยาเมโฟลควีน ยาขนานที่สอง (Second line drug) ใช้ยาควินิน (quinine) ยาด๊อกซีซัยคลิน(doxycycline) และยาไพรมาควิน (primaquine) ร่วมกันรักษาหายขาดเชื้อชนิดฟัลซิปารัม(P.Falciparum) เมื่อรักษาด้วยยาขนานแรกแล้วไม่หาย
2. พื้นที่เชื้อฟัลซิปารัม (P. falciparum) ดื้อต่อยาเมโฟลควีนใช้ยาอาร์ทีซูเนต (artesunate) ยาเมโฟลควิน (mefloquine) และยาไพรมาควิน (primaquine) ร่วมกันรักษาหายขาดเชื้อชนิดฟัลซิปารัม(P.Falciparum) แต่เพิ่มขนาดยาเมโฟลควีนขึ้นอีก เมื่อทำการรักษาแล้วยังตรวจพบเชื้อฟัลซิปารัมระยะไม่มีเพศซ้ำอีกในระหว่างวันที่ 7 ถึง 28 ให้ถือว่าเชื้อมาลาเรียยังดื้อต่อยารักษาให้จ่ายขนานที่สอง (Second line drug) ตามการรักษาของพื้นที่เชื้อฟัลซิปารัม (P. falciparum) ไม่ดื้อต่อยาเมโฟลควีนเชื้อไวแวกซ์ (P. vivax) และ โอวาเล (P. ovale) ใช้ยาคลอโรควิน (chloroquine) ร่วมกับ ยาไพรมาควิน (primaquine) รักษาในรายที่พบเชื้อเหล่านี้ทุกระยะ และในรายที่พบเชื้อทั้งสองชนิดนี้ซ้ำอีกภายใน 3 เดือน นับจากการรักษาแล้ว โดยพิสูจน์ได้แน่ชัดว่าไม่ได้รับเชื้อมาใหม่ ให้รักษาโดยการเพิ่มขนาดยาไพรมาควีนขึ้นอีกเชื้อมาลาริอิ (P. malariae) รักษาโดยการใช้ยาตามวิธีการใช้ยารักษาชนิดเชื้อไวแวกซ์ (P. vivax) และ โอวาเล (P. ovale) ยกเว้นไม่ต้องจ่ายยาไพรมาควีน ในการให้ยาลักษณะดังกล่าวถือว่าเป็นการจ่ายยาแบบการรักษาขั้นหายขาด (radical treatment)ซึ่งเป็นการจ่ายยาเมื่อทราบผลการตรวจฟิลม์โลหิตและชนิดเชื้อมาลาเรีย นอกจากนี้มีการใช้ยามาลาเรียในลักษณะอื่นๆ เช่น การรักษากลุ่ม (mass treatment) เป็นการจ่ายยารักษาหายขาดแก่ประชาชนทุกราย หรือประชาชนกลุ่มเสี่ยงทุกรายในพื้นที่ เพื่อหยุดยั้งการแพร่เชื้อในกรณีพิเศษหรือกรณีฉุกเฉิน เช่น ไข้มาลาเรียระบาด ปัจจุบันนี้เนื่องจากมีปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อต่อยากระจายแพร่หลายไปทั่ว ทำให้มาตรการนี้มักไม่ได้ผล ประกอบกับอาจส่งเสริมให้มีการพัฒนาเชื้อดื้อยาได้เร็วขึ้น จึงยกเลิกการใช้ยานี้ในลักษณะทั่วไป ยกเว้นมีความจำเป็นพิเศษในบางสถานการณ์ และใช้ร่วมกับมาตรการควบคุมยุงพาหะเสมอ การใช้ยาป้องกัน (chemoprophylaxis) เนื่องจากในประเทศไทยมีปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อต่อยารักษาหลายขนาน ทำให้ไม่มียาที่มีประสิทธิภาพสูง มีฤทธิ์ข้างเคียงน้อยและเหมาะสมที่จะใช้เป็นยารับประทานป้องกันไข้มาลาเรียในประชาชนทั่วไป ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้ยาป้องกัน แต่ให้เน้นมาตรการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัดด้วยวิธีต่างๆ เช่น การหลีกเลี่ยงการพักแรมในพื้นที่ที่มีการแพร่เชื้อมาลาเรีย ถ้าไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ให้นอนในมุ้ง มุ้งลวด มุ้งชุบสารเคมี ทายาป้องกันยุงกัด เป็นต้น แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องเข้าไป พักค้างแรมในพื้นที่แพร่เชื้อมาลาเรียและไม่สามารถป้องกันด้วยวิธีดังกล่าวได้ หรือเป็นกลุ่มชนที่มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อมาลาเรียเป็นอย่างมากและอยู่ในพื้นที่แพร่เชื้อในเวลาอันสั้น จำเป็นต้องใช้ยาป้องกัน ยาที่แนะนำให้รับประทานป้องกันไข้มาลาเรียคือ ยา doxycycline วันละ 100 มิลลิกรัม โดยจะต้องรับประทานยาล่วงหน้า ก่อนเข้าไปยังท้องที่ดังกล่าว 1วัน และรับประทานทุกวันติดต่อกันในระหว่างการพักในพื้นที่ จนกว่าจะออกจากแหล่งแพร่เชื้อ และรับประทานต่ออีก 4 สัปดาห์ ควรจะรีบเจาะโลหิตตรวจหาเชื้อมาลาเรียเมื่อมีอาการไข้หรืออาการอื่นที่สงสัยว่าอาจเป็นไข้มาลาเรียภายใน 1-2 เดือนหลังจากเดินทางออกจากแหล่งแพร่เชื้อมาลาเรีย

การป้องกันควบคุมโรคมาลาเรียการป้องกันตนเองด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ถูกยุงกัด เป็นการลดโอกาสเสี่ยงการเป็นไข้มาลาเรียและลดการแพร่เชื้อไข้มาลาเรียจากผู้ที่ป่วยเป็นไข้มาลาเรีย ไปยังบุคคลอื่น มีวิธีการต่าง ๆ ดังนี้ 1.การนอนในมุ้ง การใช้มุ้งป้องกันการเกิดโรคจากยุงกัดได้มีมาหลายร้อยปีแล้ว มุ้งที่ใช้ควรอยู่ในสภาพดีไม่มีรูขาดและเสียหาย ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพการป้องกันลดลง ขนาดของเส้นด้ายที่ทำมุ้งควรมีขนาดประมาณ 1-1.8 มิลลิเมตร และจำนวนของตาข่ายไม่ควรต่ำกว่า 156 รูต่อตารางนิ้ว ซึ่งจะทำให้ไม่ร้อนอากาศสามารถผ่านได้ แต่ถ้าจำนวนรูตาข่ายมีมากกว่านี้ก็จะสามารถป้องกันแมลงที่มีขนาดเล็กได้ สำหรับมุ้งขนาดมาตรฐานทั่วไปมีพื้นที่ประมาณ 14 ตารางเมตร องค์ประกอบอื่น ๆ ของมุ้ง เช่น วัสดุที่ใช้ทำมุ้งอาจเป็นเส้นใยสังเคราะห์ หรือทำจากเส้นใยฝ้าย รูปแบบของมุ้งมีหลากหลาย เช่น มุ้งรูปทรงสี่เหลี่ยม มุ้งรูปทรงกลม มุ้งสำหรับคนเดินป่า หรือมุ้งทหาร มุ้งประกอบเปลสำหรับผูกนอนกับต้นไม้ หรือเปลที่เย็บมุ้งติดไว้ด้วยกัน
2. การสวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายให้มิดชิด เช่น ใช้เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว เป็นต้น เสื้อผ้าควรจะมีความหนาพอเพียงและควรจะหลวมเล็กน้อยไม่กระชับติดร่างกาย สีและวัสดุที่นำมาทำเสื้อผ้าก็มีส่วนในการลดยุงกัดได้ เช่นผ้าที่มีสีดำมักดึงดูดความสนใจให้ยุงกัดได้มาก และได้มีการศึกษาในกลุ่มทหารให้สวมเสื้อผ้าอย่างมิดชิด ทำให้ลดการติดโรคที่นำโดยยุงได้ นอกจากนั้นประชาชนกลุ่มเสี่ยงบางกลุ่ม เช่น กลุ่มคนกรีดยางในสวนยางอาจใช้เสื้อคลุมตาข่ายชุบสารเคมี หรือเสื้อกั๊กชุบสารเคมีสวมทับเสื้อผ้าที่ใช้อยู่ก็จะสามารถลดการถูกยุงกัดได้ระดับหนึ่ง
3. การใช้ยาทากันยุงกัด (Mosquito repellent) ยาทากันยุง หรือยาทาไล่ยุง หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติในการป้องกันไม่ให้ยุงมากัด ส่วนประกอบของยาทากันยุง ได้แก่ Benzyl benzoate, Butylethyl propanediol, DEET (N.N.-diethyl – 3 – toluamide), Dibutyl phthalate, Dimethyl carbamate, Dimethyl phthalate, Ethyl hexanediol, Butopyronoxyl และ 2-chlorodiethyl benzamide ยาทากันยุงนี้ ผลิตภัณฑ์อาจเป็นน้ำ หรือครีม หรือเป็นแท่ง (stick) และต้องมีประสิทธิภาพในการขับไล่ยุงได้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง และบางชนิดมีคุณสมบัติป้องกันได้ถึง 15 ชั่วโมง ประสิทธิภาพของยาทากันยุงขึ้นอยู่กับชนิดของผลิตภัณฑ์และความทั่วถึงของการทายาทากันยุงด้วย โดยทั่วไปยาทากันยุงมักนิยมใช้ขณะอยู่นอกบ้าน ซึ่งทำให้มีโอกาสที่ต้องเสี่ยงต่อการถูกยุงกัดในขณะอยู่นอกมุ้ง และใช้ในกลุ่มประชาชนที่มีอาชีพหรือการดำเนินชีวิตที่เสี่ยงต่อการถูกยุงพาหะกัดได้ง่าย เช่น การกรีดยาง การทำไร่สับปะรด เป็นต้น การใช้ยาทากันยุงต้องใช้ทาบริเวณที่มีโอกาสจะถูกยุงกัด ได้แก่ แขน ขา ใบหู หลังคอ และส่วนที่อยู่นอกเสื้อผ้า
4. การใช้ยาจุดกันยุง (Mosquito coils and sticks) ยาจุดกันยุง หมายถึง ผลิตภัณฑ์ยากันยุงซึ่งเมื่อใช้จุดไฟแล้วสามารถระเหยสารออกฤทธิ์ขับไล่และฆ่ายุงได้ มีคุณสมบัติในการฆ่ายุงหรือไล่ไม่ให้เข้ามาในบริเวณดังกล่าว ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ซึ่งผลิตออกมาในท้องตลาด ส่วนใหญ่มีสารเคมีผสมไว้ในยาจุดไล่ยุงด้วย จึงทำให้ผู้ใช้อาจเกิดการระคายเคืองได้ แต่มีสารเคมีบางกลุ่ม เช่น กลุ่มไพริทรอยด์ สามารถนำมาผสมในยาจุดไล่ยุง และค่อนข้างปลอดภัยต่อมนุษย์
5. การใช้ตาข่ายกันยุงกัด หรือ การใช้มุ้งลวด ปัจจุบันมีการใช้ตาข่ายกันยุงกัดทั่วไปในเขตเมือง หรือตามชนบทบางแห่งก็สามารถซื้อหาได้สะดวก ตาข่ายอาจทำด้วยไนล่อนหรือโลหะเช่น ลวด ซึ่งต้องมีการออกแบบอย่างดีเพื่อปิดกั้นช่องซึ่งยุงสามารถลอดผ่านได้ โดยเฉพาะการทำตาข่ายป้องกันที่ประตูหน้าต่างต้องทำให้มุมประตูและหน้าต่างแข็งแรงไม่เสียหายได้ง่าย ประตูควรเปิดออกด้านนอก ขนาดของตาข่ายขึ้นอยู่กับขนาดของวัสดุ เช่น ลวดที่ใช้ทำตาข่าย ขนาดของตาข่ายที่เหมาะสม คือ 16 -18 รูต่อนิ้ว
การควบคุม
แนวทางการควบคุมโรคมาลาเรียต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค คือ คน เชื้อมาลาเรียและยุงพาหะ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ทำให้มีการติดเชื้อมาลาเรีย มาตรการควบคุมโรคจึงได้แก่ มาตรการต่อคน มาตรการต่อเชื้อ และมาตรการต่อยุงพาหะ มาตรการต่อคน เป็นมาตรการที่ดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นหรือส่งเสริมให้ป้องกันไข้มาลาเรีย การมีส่วนร่วมของชุมชน ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการควบคุมป้องกันไข้มาลาเรียในชุมชน ได้แก่ การประชาสัมพันธ์ การสุขศึกษา การรณรงค์
1. การประชาสัมพันธ์ การประชาสัมพันธ์เป็นการสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน ก่อให้เกิดความร่วมมือในการปฏิบัติงานต่อหน่วยงาน เป็นการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจและสร้างศรัทธา เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนไปสู่แนวทางที่ถูกต้อง โดยเน้นให้มีการป้องกันตนเอง ร่วมมือและมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมไข้มาลาเรีย การประชาสัมพันธ์ใช้ช่องทางผ่านสื่อหลากหลาย เช่น สื่อมวลชน มุ่งเน้นสื่อที่สามารถครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายได้กว้าง เช่น วิทยุโทรทัศน์ เสียงตามสาย เคเบิลทีวี หนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ หอกระจายข่าว เป็นช่องทางสื่อที่มีอยู่ในชุมชนแล้ว ใช้เป็นแหล่งให้ข้อมูลข่าวสารที่ใกล้ชิดกับประชาชนในชุมชน โปสเตอร์ เอกสารและสิ่งพิมพ์ เป็นการถ่ายทอดความรู้ ไปสู่บุคคล กลุ่มคนหรือชุมชน และเป็นแหล่งความรู้ของประชาชนมีโอกาสได้เห็น ได้อ่านอยู่เป็นประจำ อันจะนำไปสู่การถ่ายทอดความรู้จากคนหนึ่งไปสู่คนอื่น ๆ ในชุมชน
2. การสุขศึกษา การสุขศึกษา เป็นกระบวนการที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ มีกิจกรรมดำเนินการอย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอ พฤติกรรมสุขภาพ ได้แก่ พฤติกรรมป้องกันโรค พฤติกรรมการเจ็บป่วย พฤติกรรมการรักษาพยาบาล สิ่งแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจมีอิทธิพลสูงมากในการกำหนดพฤติกรรมสุขภาพ จึงจำเป็นต้องกระตุ้นให้มีการเรียนรู้และตระหนักถึงสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ การสุขศึกษาในหมู่บ้าน เพื่อให้ความรู้ ทำให้เกิดความเข้าใจ แก่ประชาชนและกลุ่มผู้นำในหมู่บ้านเกี่ยวกับสถานการณ์ไข้มาลาเรีย เพื่อให้พร้อมที่จะร่วมมือและมีส่วนร่วมในการควบคุมไข้มาลาเรีย เช่น ชี้แจงประชาชนให้เห็นความสำคัญของการพ่นสารเคมี การสุขศึกษาในโรงเรียน เพื่อให้กลุ่มครูและนักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนร่วมมือ และมีส่วนร่วมในการป้องกัน ควบคุมไข้มาลาเรีย ร่วมกับการประชุม/อบรมครูในโรงเรียน ให้ทราบและมองเห็นความสำคัญของปัญหา และร่วมกันแก้ไข และโรงเรียนสามารถจัดกิจกรรมที่นักเรียนมีส่วนร่วม เช่น การเลี้ยงปลา ปล่อยปลา ประกวดเรียงความ การสุขศึกษาในมาลาเรียคลินิก เพื่อให้ผู้ป่วยรับประทานยาให้ครบและมาเจาะโลหิตตามนัด ป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อมาลาเรียในคราวต่อไป และเพื่อให้ผู้รับบริการรายอื่น มีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องการป้องกันตนเอง การให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมในการควบคุมไข้มาลาเรีย การสุขศึกษาในแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติรู้จักป้องกันตนเองไม่ติดเชื้อไข้มาลาเรียเมื่อเข้าไปในแหล่งท่องเที่ยว มีเอกสารแผ่นพับ และบัตรขนาดพกพา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เรื่องการป้องกันไข้มาลาเรีย รวมทั้งให้ความรู้กับกลุ่มชนและบริษัทท่องเที่ยวหรือชมรมท่องเที่ยว และ เน้นในเรื่องยากินป้องกันมาลาเรียว่าไม่สามารถป้องกันได้เต็มที่ การสุขศึกษาในชนกลุ่มน้อย เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการให้ความรู้ เกิดความเข้าใจ และทำความเข้าใจกับชุมชนกลุ่มน้อยในเรื่องไข้มาลาเรีย รวมทั้งให้รู้จักป้องกันตนเองตามสภาพปัญหาของพื้นที่และให้เหมาะสมกับสภาพวัฒนธรรม ประเพณี ของกลุ่มชนนั้นด้วย
3. การรณรงค์ป้องกันไข้มาลาเรีย การรณรงค์ไข้มาลาเรีย จัดขึ้นในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม เป็นการดำเนินการหลายกิจกรรมพร้อมกันเพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจไปสู่ประชาชนให้มองเห็นความสำคัญของปัญหา เพื่อให้ประชาชนได้เห็น ได้ยิน ได้พูด ได้ลงมือกระทำด้วยตนเอง เพื่อกระตุ้นเตือนประชาชน กลุ่มผู้นำ อาสาสมัครให้ตระหนักในปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน และพร้อมที่จะป้องกันตนเองและมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมไข้มาลาเรีย
4. การมีส่วนร่วมของชุมชน เป็นการจัดให้มีกิจกรรมควบคุมป้องกันโรคโดยประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างเต็มที่จนสามารถพึ่งตนเองได้ในที่สุด โดยเป็นกิจกรรมที่จำเป็นและเหมาะสม สามารถนำไปปฏิบัติได้สมเหตุผลทางวิชาการ สังคมยอมรับและใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ดำเนินการครอบคลุมประชาชนทุกคนและทุกครัวเรือนในชุมชน ประชาชนจึงควรมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาไข้มาลาเรียในหมู่บ้านให้ลดน้อยหรือหมดไปจากหมู่บ้าน เช่น การร่วมกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ปล่อยปลา เป็นต้น จัดให้มีและพัฒนาอาสาสมัคร บทบาทหน้าที่ของอาสาสมัครมาลาเรีย (อมม.)คือ ให้บริการเจาะโลหิตส่งตรวจในรายที่สงสัยเป็นไข้มาลาเรีย แนะนำให้ความรู้และมีส่วนร่วมในการควบคุมไข้มาลาเรีย ส่งต่อผู้ป่วยและแนะนำสถานบริการตรวจรักษาที่เหมาะสม การส่งเสริมการป้องกันตนเอง เพื่อส่งเสริมสนับสนุนประชาชนให้มีมุ้งใช้อย่างเพียงพอ และรู้จักใช้มุ้งชุบสารเคมี เพื่อส่งเสริมสนับสนุนประชาชนให้รู้จักใช้ยาทากันยุง ตลอดจนนำมุ้งและยาทากันไปใช้ในกรณีต้องเข้าไปพักแรมในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมาลาเรีย เพื่อส่งเสริมประชาชนให้จัดทำมุ้งลวดหรือมุ้งไนลอนป้องกันไม่ให้ยุงเข้ามากัดในบ้าน โดยอาจจัดให้มีมุ้งและยาทากันยุงจำหน่ายในหมู่บ้าน เพื่อประชาชนหาซื้อได้สะดวก และราคาไม่แพง และแนะนำส่งเสริมประชาชนจัดทำมุ้งลวด
หมู่บ้านพึ่งตนเองในการป้องกันไข้มาลาเรีย (หมู่บ้าน พปม.) มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ
1.เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนให้มีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการควบคุมยุงพาหะและป้องกันตนเอง
2.เพื่อแก้ปัญหาไข้มาลาเรียในพื้นที่ให้ลดน้อยลงหรือหมดไปจากหมู่บ้าน การจัดตั้งกองทุนจัดซื้อ-จัดขายมุ้งและยาทากันยุง หรือติดต่อ
3.ประสานงานกองทุนอื่นในหมู่บ้านให้มีการจัดซื้อ-ขายมุ้ง และยาทากันยุง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น